Regenerative คืออะไร?

Regenerative คืออะไร?

เมื่อก่อนเราจะรู้ว่าหลักของความยั่งยืนหรือ Sustainability เน้นไปที่หลัก 3 Rs ได้แก่ Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ Reduce ลดการใช้สิ่งที่ย่อยสลายยากซึ่งอาจกลายเป็นภาระของโลกในระยะยาวนับพันปี เช่น พลาสติก และ Recycle การเปลี่ยนรูปแบบของที่เคยใช้แล้วผ่านกรรมวิธีให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประโยชน์ แต่สำหรับ Regeneretive จะให้คุณค่า ใส่ใจทั้งระบบที่เกื้อกูลกันให้กลับมา (Restore) ไม่ใช่แค่ยืดเวลาจากสิ่งที่มีอยู่ให้นานที่สุด แต่มองอย่างสัมพันธ์ และมองไปไกลถึงโลกอนาคต นำความอุดมสมบูรณ์กลับมา ไม่ใช่แค่ลดการใช้ แต่สร้างสิ่งที่เสียไปหรือหายไปให้กลับมาขยายตัวเพิ่ม เป็นโอกาสและทางออกที่สังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังต้องการในตอนนี้

เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างอาจเกิดขึ้นมาและหายไป เมื่อไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เรื่องที่มีคุณค่าที่โดนมองข้าม บางครั้งเพียงแค่หันกลับไปมองและหยิบขึ้นมาเพื่อค้นหาว่าคุณค่าของสิ่งนั้นอยู่ที่ไหน อาจสร้างความมหัศจรรย์ให้กับคนในยุคนี้และยุคต่อไปได้ เฉกเช่นคุณอาจคิดว่าแพลงตอน เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญจนพบว่าแพลงตอนเหล่านี้มีคุณค่ากับโลกใต้น้ำมากแค่ไหน ถ้าคุณไม่เห็นระบบที่เอื้อต่อกัน คุณจะไม่สามารถฟื้นอะไรขึ้นมาได้จากรากฐาน เพียงเพราะสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในระบบชีวิตของเรา ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญในระบบของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย

ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามว่าคุณคือส่วนไหนในระบบ ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเป็นส่วนที่เล็กที่สุด แล้วต้องพึ่งพาใครบ้าง คุณจะรู้ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในระบบของชีวิตที่กว้างใหญ่ เพราะหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าเราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติที่ทรงพลังนี้ได้เลย 

Regenerative หรือ Sustainable ?

แตกต่าง เชื่อมโยง หรือส่งเสริมกันอย่างไร

มาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) นักคิดและนักปฏิบัติการด้าน Regenerative และตัวแทนความยั่งยืนจาก UN SDG ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นด้วยคำตอบว่า ‘การฟื้นคืน’ – Regenerative ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เป็นสิ่งที่เลโอนาโด ดาวินชี สุดยอดอัจฉริยะรอบด้านรวมถึงชีววิทยาเล็งเห็นมานานกว่า 5 ทศวรรษ เพราะเป็นแนวคิดที่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงของชีวิต และความจำเป็นในการกลับไปสานสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ ที่ช่วยให้ชีวิตอยู่ต่อได้ยืนยาวขึ้น และอยู่ดีมีสุขตลอดไป

Sustainable Action

ในทางกลับกัน มาร์คได้มองว่า ‘ความยั่งยืน’ หมายถึงศิลปะแห่งการดำรงและรักษาไว้ ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์จะคงอยู่ได้โดยไม่ถูกทำลาย รายงานของ Brundtland ขององค์การสหประชาชาติยังได้เสนอคำจำกัดความไว้มากมาย แต่ความจริงแก่นแท้ของความยั่งยืน คือความพยายามที่จะสร้างสมดุลที่กลมกลืนระหว่างมนุษย์กับความสามารถของโลกในการจัดหาทรัพยากร

มาร์คได้สรุปว่า แม้ Regenerative จะครอบคลุมถึง ‘ความยั่งยืน’ แต่กระบวนการนั้นลึกซึ้งกว่า เพราะ Regenerative เน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างแข็งขัน ไม่เพียงเพื่อหนีรอดจากวิกฤติโลกร้อน ไม่เพียงอยู่ได้ แต่จะนำไปสู่ภาวะที่ดีเกินกว่าสภาพดั้งเดิม  “แนวคิดอาจเป็นจุดเริ่มต้น แต่จิตวิญญาณการเป็นผู้รักษา ผู้ฟื้นฟู และผู้ดูแลสิ่งแวดล้อมคือหัวใจสำคัญ”

Related Posts

Share with
Tags: